รู้จัก จำลอง พิศนาคะ

Last updated: 27 ธ.ค. 2564  |  7274 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จัก จำลอง พิศนาคะ

จำลอง พิศนาคะเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2466 เป็นบุตรคนเดียวของนายเจริญ และนางแดง พิศนาคะ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา (ป.1 - ป.4) และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 - ม.5) ที่โรงเรียนแก่งคอยวิทยา จังหวัดสระบุรี และศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6 - ม.8) ที่โรงเรียนสอนภาษาจีน ‘จีนเต๊อะ’ ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย เช่นกัน   หลังจากจบ ม.8 แล้ว จำลองประกอบอาชีพช่างไม้ โดยเริ่มจากการเป็นเด็กฝึกงานไม้ ปกติจำลองเป็นคนชอบค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว เมื่อไปทำงานกับช่างไม้ชาวจีนกวางตุ้ง จึงเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้ทางด้านภาษาจีนลึกซึ้งยิ่งขึ้น    อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในด้านอาชีพการงานสมัยนั้น จำลองจึงทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างไม้ตลอดมา  กระทั่งอายุ 20 ปี เป็นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง จำลองตัดสินใจเดินทางเข้ามาต่อสู้ชีวิตที่กรุงเทพมหานคร  โดยเริ่มจากการเช่าบ้านที่ซอยแม้นศรี 2 (ตรอกโรงเลี้ยงเด็ก) ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างบ้าน กระทั่งได้พบรักและมีภรรยาชื่อนางนิด แซ่เล้า มีบุตรและธิดารวม 5 คน

จำลอง พิศนาคะพยายามสร้างฐานะจนสามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงและจุดหักเหในชีวิตก็บังเกิดขึ้น    เมื่อครั้งหนึ่งในการรับเหมาก่อสร้าง เกิดความผิดพลาดจากการคำนวณ ทำให้จำลองและครอบครัวต้องประสบชะตากรรมขาดทุนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จำลองเสียใจมาก จนต้องขอภรรยาไปบวชเรียนศึกษาธรรมะ เพื่อสงบจิตใจและผ่อนคลายทุกข์ จำลองได้ศึกษาธรรมะอยู่ถึง 3 ปี   ในช่วงเวลานั้นเองที่จำลองได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตำราต่าง ๆ รวมทั้งภาษาจีนอย่างจริงจัง ทั้งภาษาจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนแคะ และจีนกวางตุ้ง รวมทั้งเจาะลึกถึงรากเหง้าอักษรจีนโบราณอย่างแตกฉานระดับหนึ่ง ทำให้พูด อ่าน เขียน ภาษาจีนได้อย่างแคล่วคล่องที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัยนั้น

หลังจากจำลอง พิศนาคะศึกษาตำราต่าง ๆ จนมีความรู้ดีระดับหนึ่งแล้ว จำลองคลายทุกข์จากความผิดพลาดในอดีต และมีกำลังใจดีขึ้น จึงขอลาสิกขาจากพระภิกษุมาต่อสู้กับโลกภายนอก เริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่อีกครั้ง โดยกลับมาเป็นช่างไม้และใช้บทเรียนความผิดพลาดในอดีตเป็นครู อยู่มาวันหนึ่ง ประยูร พิศนาคะ ซึ่งมีฐานะเป็นพี่ชายลูกพี่ลูกน้องกัน ได้แนะนำให้จำลองไปรับงานแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ นับเป็นครั้งแรกที่จำลองลองรับงานแปลตำราและหนังสือจีนต่าง ๆ เป็นภาษาไทยโดยมีประยูร พิศนาคะ และนิยม โรหิตเสถียร นักประพันธ์นวนิยาย เป็นผู้ช่วยขัดเกลาสำนวนอีกครั้ง

นวนิยายเล่มแรกที่จำลอง พิศนาคะแปลคือ นวนิยายกำลังภายในเรื่อง มังกรหยก ภาค 1 เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยมีประยูร พิศนาคะ และนิยม โรหิตเสถียร ร่วมกันขัดเกลาสำนวน ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านดีมากเกินความคาดหมาย ต่อมาเมื่อจำลองมีความชำนาญการใช้ภาษาไทยยิ่งขึ้น จึงรับแปลเอง ขัดเกลาสำนวนเอง จำลองได้ชื่อว่าเป็นผู้แปลนิยายภาษาจีนได้ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง เป็นผู้ให้กำเนิดและคำจำกัดความคำว่า “กำลังภายใน” เป็นคนแรกของไทย หลังจากจบ มังกรหยก ภาค 1 แล้วจึงได้แปล มังกรหยก ภาคต่อ ๆ มา กระทั่งจบ มังกรหยก ภาคจบบริบูรณ์

ทศวรรษ 2500 นาม “จำลอง พิศนาคะ” ได้รับการยอมรับในฐานะนักแปลนิยายจีนกำลังภายในแถวหน้าอันดับหนึ่งของไทยอย่างเต็มภาคภูมิ และสร้างชื่อเสียงต่อ ๆ มากับผลงานอีกมากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น โต๊ะฮุ้นกี้ นางพญาเสือขาว เจ็ดนักกระบี่ เดชพญามังกร มังกรสาว มังกรทอง มังกรแก้ว สิงห์สาละวิน โคมมฤตยู นางพญาม้าขาว อึ้งเอี๊ยะซือ  จิวแป๊ะทง และอั้งชิดกง เป็นต้น รวมทั้งค้นคว้าและแปลตำราโหงวเฮ้ง ตำราดูลักษณะบุคคล เคล็ดลับการค้าของจีน ประวัติเหมาเจ๋อตุง เคล็ดลับกำลังภายใน กังฟู ยูโด การฝังเข็มของจีน และอีกมากมายหลายแนว

นอกจากใช้ชื่อจริงในงานเขียนแล้ว จำลองยังมีนามปากกา อาทิ สุธีร์ ณ ป่าสัก ศิษย์หลวงสุวรรณ นิตยา จัตุรงค์ พงษ์นาคินทร์ จินตนา คณะช่าง และช่างเทคนิค เป็นต้น

จำลอง พิศนาคะเสียชีวิตจากการหกล้มศีรษะกระแทกพื้น เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2525 ขณะอายุได้เพียง 59 ปี ผลงานเรื่องสุดท้ายที่จำลองแปลฝากไว้ในวงวรรณกรรมคือ มนุษย์ศพแหล ในนิตยสารสยามบันเทิง อย่างไรก็ตาม ผลงานที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้จำลองมากที่สุด คือ มังกรหยก ภาค 1 (พ.ศ. 2501) มังกรหยก ภาค 2 (พ.ศ. 2502) ดาบมังกรหยก (พ.ศ. 2506) และ มังกรหยก ภาคจบบริบูรณ์ (แปดเทพอสูรมังกรฟ้า) (พ.ศ. 2506) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่อยมาเป็นระยะ ๆ ในฐานะต้นกำเนิดตำนานจอมยุทธ์สะท้านปฐพีที่ชาวไทยทุกรุ่นวัยคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือ ก๊วยเจ๋ง อึ้งย้ง เอี้ยก้วย เสียวเล้งนึ่ง เตียบ่อกี้ และเฉียวฟง ฉบับขนานแท้ดั้งเดิม โดยแปลจากผลงานที่กิมย้งเขียนครั้งแรกเป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์เซียงกั่วซ้งเป้า และหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ระหว่างพ.ศ. 2500-2506    กล่าวได้ว่า หลังจากยุคสมัยซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียบเรียงเรื่องราวพงศาวดารอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก ปลุกนักอ่านชาวไทยให้ตื่นตัวต่อการศึกษาวรรณกรรมจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา   จำลอง พิศนาคะได้ชื่อว่าเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งจุดประกายและสานต่อการศึกษาวรรณกรรมจีนในไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ตั้งแต่พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา

------------------------------------------------------

บางส่วนของประวัติเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของนายศักดิ์ณรงค์ พิศนาคะ บุตรชายของคุณจำลอง พิศนาคะ

ภาพหนังสือประกอบบทความ จาก www.luukaod.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้