รู้จัก ว. ณ เมืองลุง

Last updated: 27 ธ.ค. 2564  |  5068 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จัก ว. ณ เมืองลุง

ในแวดวงนักอ่านนิยายกำลังภายในรุ่นปัจจุบัน คงมีน้อยคนนักที่จะรู้จักหรือเคยอ่านผลงานของนักแปลนาม “ว. ณ เมืองลุง” ทั้งนี้ เพราะบนแผงหนังสือนิยายกำลังภายในในร้านค้าปลีกช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ แทบจะไม่ปรากฏผลงานของนักแปลท่านนี้วางจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม ย้อนเวลาไประหว่างช่วงทศวรรษ 2500-2530 นักอ่านนิยายกำลังภายในช่วงนั้นจะรู้จักและคุ้นชื่อนามปากกานี้ดี เพราะเป็นมือแปลนิยายกำลังภายในหมายเลขหนึ่งของวงการ เป็นบุคคลแรกที่นำงานของนักเขียนจีนระดับแนวหน้าหลายท่านมาให้นักอ่านไทยได้รู้จัก เช่น อ้อเล่งเซ็ง เซียวอิด เซาะงัง เป็นต้น

จากบทสัมภาษณ์ของ ว. ณ เมืองลุง ในนิตยสารไฮ-คลาสปีที่ 8 ฉบับที่ 87 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 และจากหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย เล่ม 2 ของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ประมวลได้ว่า

ว. ณ เมืองลุง มีนามจริงว่า นายชิน บำรุงพงศ์ เกิดวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2472 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จบชั้นประถมจากโรงเรียนจีนในตัวจังหวัด ประมาณปี พ.ศ. 2483 เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แถวห้าแยกพลับพลาไชย ทำอยู่ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484) จึงกลับบ้านเกิด และมีโอกาสเรียนภาษาจีนต่อกระทั่งปี พ.ศ. 2494 กระทรวงศึกษาธิการเปิดสอบวิชาครู นายชินก็สอบได้ประกาศนียบัตรครูประถม จึงยึดงานเป็นครูสอนหนังสืออยู่หลายปี เริ่มจากที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 1 ปี ก็ย้ายไปที่โรงเรียนบ้านบึง จังหวัดชลบุรี อยู่ 1 ปี ต่อด้วยมาสอนที่โรงเรียนศึกษาวัฒนา สามย่าน กรุงเทพมหานคร กระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2504 จึงลาออกไปเป็นเสมียนโรงไม้ที่จังหวัดพัทลุง

นายชิน บำรุงพงศ์ ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารไฮ-คลาสเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ทำงานที่จังหวัดพัทลุงนั้น เห็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นข้างห้องพักคนหนึ่ง ติดนิยายกำลังภายใน มังกรหยก ชนิดไม่เป็นอันเรียน จึงขอเขาดู พบว่าเคยอ่านต้นฉบับภาษาจีนเรื่องนี้มาก่อน และหากให้ตนแปล ก็น่าจะแปลได้ดีกว่า

ช่วงกลับไปเยี่ยมมารดาที่พิษณุโลก และพักที่กรุงเทพฯ จึงไปที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ที่พิมพ์หนังสือ มังกรหยก จำหน่าย เข้าไปเสนอตัวทำงานแปลให้ เจ้าของสำนักพิมพ์คือ นายเวช กระตุฤกษ์    นายเวช บอกว่ามีคนแปลเพียงพอแล้ว ไม่ต้องการเพิ่ม นายชินก็บอกว่า ถ้าให้เขาแปล จะไม่แปลแบบนี้ จะใช้อีกสำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะนิยายกำลังภายใน เป็นเรื่องของคนเถื่อน วงพวกนักเลง ไม่เหมาะที่จะใช้สำนวนลีลาโวหารแบบ สามก๊ก ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) หากใช้สำนวนภาษาแบบไม้เมืองเดิม จะเหมาะกว่า นายเวชก็ไม่ตกลง ขณะนั้นนายชลิต พรหมดำรง บรรณาธิการ นั่งฟังอยู่ด้วย อยากรู้ว่าที่นายชินพูดเป็นสำนวนแปลแบบใด จึงไปนำหนังสือพิมพ์ภาษาจีนจากร้านกาแฟใกล้ ๆ โรงพิมพ์มาให้นายชินลองแปลคอลัมน์หนึ่งดู พบว่าแปลกดี ความกระชับ จึงแนะนำนายเวชว่าลองดู รับเพิ่มอีกคนน่าจะดี นายเวชก็รับแบบเสียมิได้

พ.ศ. 2506 ขณะนายชินอายุได้ 34 ปี ผลงานแปล กระบี่ล้างแค้น ภาคหนึ่ง เล่มหนึ่ง ขนาดรูปเล่ม 16 หน้ายกธรรมดา หนาประมาณ 100 กว่าหน้า โดยนามปากกา "ว. ณ เมืองลุง" ก็อุบัติขึ้น และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการนักอ่านนิยายกำลังภายใน โดยได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด ขนาดว่าช่วงเช้าพิมพ์ 6,000 เล่มไม่พอ ต้องพิมพ์เพิ่มภาคบ่ายอีก 2,000 เล่ม

นับแต่นั้น นามปากกา “ว. ณ เมืองลุง” ก็จุติในบรรณพิภพอย่างเต็มภาคภูมิและทยอยนำเสนองานแปลนิยายกำลังภายในสู่นักอ่านเรื่องแล้วเรื่องเล่า เป็นการนำงานของนักเขียนชาวจีนระดับแนวหน้ามาให้นักอ่านชาวไทยได้สัมผัสคนแล้วคนเล่าเช่นกัน ก่อเกิดการสั่งสมหล่อหลอมการเป็นนักแปลจนตกผลึก สร้างสำนวนลีลาโวหารแบบ ว. ณ เมืองลุง อย่างมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการใช้คำสั้น กระชับ รวบรัดลุ่มลึก ได้ใจความลึกซึ้ง กึ่งคติกึ่งปรัชญา ใกล้เคียงภาษาจีนต้นฉบับเดิม นักวิจารณ์หลายท่านในบ้านเราตั้งข้อสังเกตว่าสำนวนโวหารของ ว. ณ เมืองลุง เป็นแบบของ ยาขอบ (ผู้เขียน สามก๊ก ฉบับวณิพก และ ผู้ชนะสิบทิศ)   อย่างไรก็ตาม จุดเด่นอย่างยิ่งก็คือ ว. ณ เมืองลุง สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก จิตใจของตัวละคร บรรยากาศของท้องเรื่องอย่างได้อรรถรส สะกดใจผู้อ่านชนิดวางไม่ลง วางไม่ลืม ดังปรากฏในงานแปลเรื่อง เซียวฮื้อยี้ ฤทธิ์มีดสั้น จอมโจรจอมใจ จอมดาบหิมะแดง นักสู้ผู้พิชิต เป็นต้น

“อย่างบางคำที่เขาพยายามอธิบายเสียสองสามบรรทัด ผมแค่ใช้ภาษาไทยทับลงไปเลย อย่าง ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา คนอ่านก็เข้าใจได้โดยสมบูรณ์ ไม่ต้องไปอธิบายอะไรมากมาย หรือต้องเขียนเป็นคำสอนเป็นอุทาหรณ์ไปโน่น” *

ว. ณ เมืองลุง แปลงานให้กับสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ถึง พ.ศ. 2508 ก็ออกมาแปลให้กับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ต่อด้วยสำนักพิมพ์คลังวิทยา สำนักพิมพ์บรรณาคาร ผลงานที่สร้างชื่อให้มีมากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น ฤทธิ์มีดสั้น ชุดชอลิ่วเฮียง เซียวฮื้อยี้ จากผลงานของโกวเล้ง มังกรจ้าวยุทธจักร อินทรีจ้าวยุทธจักร จากผลงานของกิมย้ง และจากผลงานของนักเขียนยอดนิยมของไต้หวัน ฮ่องกงคนอื่น ๆ อีกหลายท่าน เช่น เรื่อง เทียนฮุดเจี้ย กำเทียนลก กระบี่จอมภพ มัจจุราชคะนอง และผู้กล้าหาญนิรนาม เป็นต้น

ช่วงหลัง พ.ศ. 2520 ที่นิยายกำลังภายในได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ว. ณ เมืองลุง ก็ได้แปลงานตีพิมพ์ใน นิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวัน   ในบรรดาผลงานแปลของ ว. ณ เมืองลุง นับร้อยกว่าเรื่อง เรื่องที่สร้างชื่อให้ ว. ณ เมืองลุง สูงสุดคือ ฤทธิ์มีดสั้น ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง จากหลายสำนักพิมพ์ รวมแล้วกว่า 10 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2514 พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ถึง พ.ศ. 2562 โดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์   จึงกล่าวได้ว่า “ลี้คิมฮวง” เป็นตัวละครที่แนบแน่นอยู่ในใจผู้อ่านจำนวนไม่น้อย ในฐานะจอมยุทธ์ผู้เพียบพร้อมคุณธรรม ความเสียสละ และความองอาจกล้าหาญ เจ้าของสมญานาม "เซียวลี้ปวยตอ" มีดสั้นไม่พลาดเป้า

ช่วงหลังทศวรรษ 2520 ว. ณ เมืองลุง มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ประกอบกับถึงจุดอิ่มตัว จึงไม่มีงานแปลใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากนัก

ว. ณ เมืองลุง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 สิริรวมอายุได้ 75 ปี

 

...................................................................

*ว. ณ เมืองลุง ให้สัมภาษณ์ นิตยสารไฮ-คลาส ฉบับปีที่ 8 ฉบับที่ 87 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 หน้า 135

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้